สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี
27/8 ถนนตลาดใหม่ ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000
โทรศัพท์ : 077-272-503 Email : sn_ops@moc.go.th
“ภูมิธรรม” สั่งการ สนค. ศึกษาเศรษฐกิจครัวเรือนภาคเกษตร เพื่อยกระดับและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย เผยหลังศึกษาพบภาคเกษตรเติบโตอ่อนแรง ครัวเรือนมีหนี้สูง แนะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ผ่าน 16 แนวทาง “7 สร้าง 3 กระตุ้น 6 พัฒนา” เน้นเพิ่มความหลากหลายสินค้าเกษตร ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มงบวิจัยและพัฒนา ดันท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำเกษตรอัจฉริยะ ค้าออนไลน์ รุกใช้โซเชียลเปิดตัวสินค้า
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาปากท้องของคนไทย โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือนภาคเกษตร จึงมอบหมายให้ สนค. ติดตามและศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจครัวเรือนภาคเกษตร เพื่อยกระดับและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งหลังจากที่ได้ศึกษาแล้ว พบว่า รายได้ภาคการเกษตรมีการเติบโตแบบอ่อนแรง มีส่วนทำให้ครัวเรือนเกษตรมีภาระหนี้สินสูงขึ้น ภาคเกษตรของไทยจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกหลายด้าน โดยเฉพาะการปรับตัวของเกษตรกรต้นน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจการค้ารูปแบบใหม่ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับแนวทางการยกระดับและเพิ่มรายได้เกษตรกร มีข้อเสนอ 16 แนวทาง ประกอบด้วยแนวทาง “7 สร้าง 3 กระตุ้น 6 พัฒนา” ดังนี้
“7 สร้าง” ได้แก่ 1.สร้างโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความหลากหลาย และเป็นที่ต้องการของตลาด 2.สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนการผลิต 3.สร้างโครงสร้างพื้นฐานการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ 4.สร้างปัจจัยการผลิตภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ 5.สร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์การเกษตร เป็นตัวแทนรวบรวมผลผลิตของสมาชิกจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ และสหกรณ์ สามารถของบประมาณภาครัฐซื้อเครื่องจักร เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อใช้ในกลุ่ม 6.สร้างหลักประกันความมั่นคงทางรายได้ เช่น ส่งเสริมการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรและระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม และ 7.สร้างการเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
“3 กระตุ้น” ได้แก่ 1.กระตุ้นงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร ทั้งด้านพันธุ์พืชและวิธีการผลิต 2.กระตุ้นการลงทุนในภาคการเกษตร และ 3.กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
“6 พัฒนา” ได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพเกษตรกรและชุมชนเกษตรกร อาทิ การทำเกษตรอัจฉริยะและเกษตรคาร์บอนต่ำ 2.พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการภาคการเกษตร เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร สู่การค้าออนไลน์ และกฎระเบียบทางการค้าสินค้า 3.พัฒนาการตลาดและประชาสัมพันธ์ อาทิ ตลาดชุมชน ตลาดออนไลน์ และอินฟลูเอนเซอร์สินค้าเกษตร 4.พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและการแปรรูป 5.พัฒนาฐานข้อมูลด้านเกษตร ที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตและการตลาด และ 6.พัฒนาระบบขนส่ง โลจิสติกส์ และคลังสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ นอกจากแนวทางการยกระดับและเพิ่มรายได้แล้ว นายภูมิธรรม ยังได้มีการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อการพาณิชย์” ซึ่งเป็น 1 ใน 9 คณะอนุกรรมการที่ดูแลลงลึกในแต่ละภารกิจ ภายใต้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายเชิงรุกกระทรวงพาณิชย์ ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทย
ปัจจุบัน สนค. ได้ศึกษาสถานการณ์การผลิตและการค้าสินค้าเกษตรไทย พบว่า ในปี 2565 ไทยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 17,370,240 ล้านบาท เป็น GDP จากภาคเกษตร 1,531,120 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.81 ของ GDP รวมของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยใช้พื้นที่ทำการเกษตร 149.75 ล้านไร่ (มีพื้นที่ชลประทาน 34.88 ล้านไร่ หรือร้อยละ 23.29 ของพื้นที่ทำการเกษตร) โดยพื้นที่ทำการเกษตรมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 46.69 ของพื้นที่ทั้งประเทศ และมีแรงงานภาคเกษตรจำนวน 11.63 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.31 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด แต่เกษตรกรไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 58.46 ปี
สำหรับพื้นที่ทำการเกษตรของไทย ใช้ทำนาข้าวมากที่สุด มีจำนวน 65.41 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 43.68 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ รองลงมา คือ สวนผลไม้และไม้ยืนต้น 39.38 ล้านไร่ พืชไร่ 30.89 ล้านไร่ สวนผัก ไม้ดอก และไม้ประดับ 1.1 ล้านไร่ และใช้ประโยชน์อื่น ๆ 12.96 ล้านไร่ ส่วนด้านต้นทุนปัจจัยการผลิตในภาคเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 มีมูลค่าการนำเข้า 128,625 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าปุ๋ยเคมีถึง 103,205 ล้านบาท ร้อยละ 80.24 ของมูลค่าการนำเข้าปัจจัยการผลิตในภาคเกษตรทั้งหมด และมูลค่านำเข้าปุ๋ยเคมีในช่วง 3 ปี (2563–2565) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 49.23 ต่อปี
เมื่อเจาะลึกสถานการณ์เศรษฐกิจครัวเรือนเกษตร พบว่า ในช่วง 3 ปี รายได้ที่ครัวเรือนได้รับจากกิจกรรมทางการเกษตร ขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 3.81 ต่อปี เมื่อเทียบกับรายจ่ายที่มีการขยายตัวสูงกว่า ร้อยละ 6.30 ต่อปี เช่นเดียวกับภาวะหนี้สินที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 1.45 ต่อปี ส่วนเงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้ (รายได้หักรายจ่าย) และทรัพย์สินหดตัวลง ร้อยละ 0.25 และ 8.19 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบปี 2565 กับปี 2564 พบว่ารายได้ที่ครัวเรือนได้รับจากกิจกรรมทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 10.28 และภาวะหนี้สินของเกษตรกรก็ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 3.49 ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปี ขณะที่เงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้และทรัพย์สินของเกษตรกรยังคงหดตัวร้อยละ 2.52 และ 36.11 ตามลำดับ และหดตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปี